ซีเกท เนคเทคและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนหญิงไทยศึกษาต่อด้าน STEM (Science Technology Engineering Mathematics)

ภาพประกอบ
   
25 สิงหาคม 2558 – บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม “โครงการอีวายเอช ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7” แก่น้องๆ นักเรียนหญิงที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยค่ายวิทย์ 2 วัน 1 คืนนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.)จังหวัดนครราชสีมา และมีนักเรียนหญิงกว่า 230 คนเข้าร่วมเวิร์คช็อป   
   
เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2558 เป็นปีสากลแห่งแสง (The International Year of Light 2015) ทางคณะผู้จัดโครงการอีวายเอชฯ จึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสง (Photonic Technology) ในช่วงพิธีเปิดค่าย มีการบรรยายพิเศษโดย นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทยและวิศวกรดาวเทียม สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทย กับอาชีพนักวิทยาศาสตร์หญิงไทย ไม่ไกลเกินฝัน   
ภาพประกอบ
   
“การบรรยายพิเศษโดยนักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศไทย ปลุกพลัง และแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ เกิดการสร้างแรงผลักดันต่อบุคคล และต่อประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้า ต้นกำเนินของความสำเร็จมักเกิดจากแรงบันดาลใจบางอย่างเสมอ ถ้าเราเริ่มปลูกฝังให้เยาวชนมีแรงบันดาลใจในการค้นคว้าหาความรู้ในโลกของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ เราจะสามารถสร้างบุคลากรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันจะนำมาซึ่งอนาคตอันสดใสของประเทศไทย” นางเพียงฤทัย ศิวารัตน์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานโคราช บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี  (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “โครงการอีวายเอช เป็นโครงการน่าสนใจและน่าตื่นเต้น เมื่อดิฉันได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนหญิงตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมต่างๆ และการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ มันเหมือนกับว่าพวกเขากำลังค้นพบว่าพวกเขาชื่นชอบศาสตร์ที่สำคัญเหล่านี้”
ภาพประกอบ
   
อาสาสมัครของบริษัทซีเกทจากแผนกต่างๆจะร่วมกันจัดเวิร์คช็อปเพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ในแง่มุมที่แตกต่างกันในขณะที่สอนหลักการทางด้านวิศวกรรมและกระบวนการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ผ่านการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก   
ทีมงานของเนคเทครวมทั้งนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และผู้เชี่ยวชาญจากอาชีพต่าง ๆ อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักนิติวิทยาศาสตร์จากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ร่วมกันสร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น “กลคณิตคิดได้ไง” “ศิลปะการพับกระดาษกับคณิตศาสตร์” “นักสืบนิติวิทยาศาสตร์” “เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการ์ตูนญี่ปุ่น” “กล้อง Origami Spectrometer จากอะตอมถึงดวงดาว” และ “สนุกเรียน สนุกคิดกับวิทยาศาสตร์แบบกล้วย ๆ” เป็นต้น
ภาพประกอบ
   
“โครงการอีวายเอชสอดคล้องกับบทบาทของเนคเทคในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว  “ผ่านทางโครงการอีวายเอช เราเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พบกับโอกาสอันไม่มีขีดจำกัดทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์”   
   
โครงการอีวายเอชซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 นี้ จัดขึ้นสำหรับน้อง ๆ นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า 230 คนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของน้อง ๆ นักเรียนหญิงที่เคยเข้าร่วมโครงการอีวายเอชฯ ในปีที่ผ่าน ๆ มา พบว่ากว่า 90% ของนักเรียนหญิงเหล่านี้ ตัดสินใจเลือกศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น   
ภาพประกอบ
   
นอกจากการสนับสนุนในด้านอาคารสถานที่ในการจัดกิจกรรมแล้ว ในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารียังเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียนหญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมอีวายเอชฯ ได้มีโอกาสทัศนศึกษาที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาอีกด้วย   
ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือมทส. กล่าวว่า “จำนวนนักศึกษาที่เป็นผู้หญิงมีอัตราสูงถึงร้อยละ 55 จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมดของมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษาหญิงที่ศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จะร่วมเป็นอาสาสมัครในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ   ดังนั้น กิจกรรมนี้จะช่วยให้ทั้งบริษัทซีเกทและมหาวิทยาลัยบรรลุจุดมุ่งหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคตต่อไป”   
ภาพประกอบ